แคนสิบ
แคนสิบ ประกอบด้วยลูกแคน 10 ลูก จัดเรียงเข้าอยู่ในเต้าเป็น 2 แพ ซ้าย ขวา แพละ 5 ลูก ที่จริง อาจเรียกว่าแคนห้า ก็ได้ แต่ผู้ประดิษฐ์และพัฒนา ซึ่งก็คืออาจารย์สำเร็จ คำโมง ได้ตั้งชื่อว่าแคนสิบ ดังนั้น จึงต้องเรียกตามที่ผู้ประดิษฐ์ตั้งชื่อให้
แคนสิบ มีระบบเสียงอยู่ในมาตราแบบไดอะโทนิคครบ 1 ช่วงทบ พร้อมกับเสียงประสานยืน หรือเสียงเสพ อีก 3 เสียง คือเสียง “ ซอล ลา และ เร ” แต่เดิมนั้น แคนสิบ มักทำขึ้นเป็นของที่ระลึก มีขนาดสั้น ระบบเสียงไม่แน่นอน เมื่อปีพ.ศ. 2516 อาจารย์สำเร็จ คำโมง ได้พัฒนาแคนสิบขึ้นมาจากแคนหก โดยวางตำแหน่งเสียงให้คล้ายคลึงกัน และได้เพิ่มจำนวนลูกแคนเข้าไป เพื่อให้มีระบบเสียงมาตราไดอะโทนิคครบ 1 ช่วงทบ
ลักษณะสำคัญของแคนสิบ คือระดับเสียงมาตราไดอะโทนิค จัดวางเหมือนกับระบบดนตรีสากล เพื่อสะดวกแก่ผู้ที่มีความรู้พื้นฐานทางดนตรีสากลอยู่แล้ว จะฝึกหัดได้โดยง่าย นอกจากนั้น ระบบเสียงเสพแบบแคนดั้งเดิม ก็ยังคงอยู่ครบถ้วน แคนสิบมีเสียงเรียงลำดับจากต่ำไปหาสูงคือ “ ซอล ลา ที โด เร มี ฟา ” และ มีเสียงเสพสำหรับประสานยืน อีก3เสียงคือ เสียง “เร” สำหรับประสานในลายสร้อย เสียง “ลา” สำหรับประสานทำนองทางไมเนอร์ และเสียง “ซอล” สำหรับประสานทำนองทางเมเจอร์
อาจารย์สำเร็จ คำโมง ให้ความเห็นว่า การกำหนดให้มีสิบลูก เพราะถือว่าผู้เป่า มีสิบนิ้ว ตำแหน่งการจัดวางเสียงของลูกแคนสิบ จัดวางไว้คล้ายตำแหน่งลิ่มนิ้วของเครื่องคีย์บอร์ด ทำให้ฝึกเป็นง่ายกว่าแคนเจ็ด แคนแปด