ขั้นตอนการทำแคน

ขั้นตอนการทำ
ชาวบ้านจะไปตัดไม้เฮี้ยจากบนภูเขาไปขายให้แก่ช่างแคน เดิมก็ใช้เกวียนบรรทุกไป แต่ปัจจุบันใช้รถบรรทุกขนไป ราคาขายปลีกมัดละ 10 บาท มัดหนึ่ง ๆ ชาวบ้านเรียกว่า “หลาบ” ละ 16 กู่ ซึ่งใช้ทำแคนได้ 1 เต้า (ส่วนมากเรียก “ดวง”)
เมื่อช่างแคนได้ไม้กุ่แคนมาแล้วก็จะตากให้แห้ง จึงนำมาเจาะทะลุข้อและคัดให้ตรงแล้วคัดเป็นท่อนตามขนาดที่ต้องการใช้ ต่อจากนี้ก็เจาะลิ้น รูแพว
สำหรับลิ้นนั้นทำจากโลหะ เช่น ทองเหลือง ทองแดง หรือโลหะผสม คือ ทองแดงผสมเงินซึ่งจะมีช่างโลหะโดยตรงเป็นผู้ผสมและตีเป็นมาตรฐานมาให้ช่างแคน ช่างแคนก็จะนำมาตัดเป็นเส้นและตีให้เป็นแผ่นบางๆให้ได้ขนาดที่จะสับเป็นลิ้นแคน นำลิ้นแคนไปสอดใส่ไว้ในช่องรูลิ้นของกู่แคนหรือลูกแคนแต่ละลูก
เต้าแคนช่างแคนทำจากไม้ประดู่หรือไม้นำเกลี้ยง(ไม้รัก)ถ้าเป็นไม้ประดู่คู่นิยมใช้รากเพราะตัดหรือปาดง่ายด้วยมีดตอก ใช้สิ่วเจาะให้กลวงเพื่อเป็นที่สอดใส่ลูกแคนและเป็นทางให้ลมเป่าผ่านไปยังลิ้นแคนได้สะดวก
เมื่อสอดใส่ลูกแคนเข้าไปในเต้าแล้วต้องใช้ขี้สูตรหรือขี้แมงน้อยก็เรียกขี้สูตรนี้เข้าใจว่าเป็นพวกสารพวกขี้ผึ้งดำได้จากรังของแมลงชนิดหนึ่ง คล้ายมิ้มหรือผึ้งเล็กแมลงชนิดนี้ชาวบ้านเรียกว่าแมงน้อยหรือแมงขี้สูตร
เดิมทีเดียวคงเรียกว่าแมงน้อยแต่เมื่อนำมาเป็นชันอุดและเชื่อมลูกแคนเข้ากับเต้าแคนและใช้สำหรับปิดรูนับรูเสียงเสพหรือที่ชาว ผู้ไทยเรียกเสียงกล่อม ทำให้เป่าแคนเป็นทำนองลีลาต่างกันออกไป เกิดเป็นสูตรเพลงแคนขึ้นมาเป็นลายน้อยลายใหญ่และอื่น ๆ ขึ้นมา ขี้แมงน้อยก็กลายเป็นขี้ “สูตร” แทนคำว่า “ขี้สูด” บังคับให้เกิด “สูตร” เพลงแคนขึ้นมา ข้าพเจ้าจึงใช้คำว่า “ขี้สูตร” แทนทำว่า “ขี้สูด

ส่วนประกอบของแคน
แคน มีส่วนประกอบต่างๆ ดังนี้

1.ลูกแคน 2.เต้าแคน 3.หลาบโลหะ 4.ขี้สูดหรือชันโรง 5.ไม้กั้น 6.เชือกมัด

1. ลูกแคน
ลูกแคน ทำจากไม้ตระกูลไผ่ชนิดหนึ่ง ทางภาคอีสานเรียกว่าไม้ไผ่เฮี้ย ชาวลาวเรียกว่า ไม้เฮี้ยน้อย ทางภาคกลางและทางเหนือเรียกไม้ซาง และเนื่องจากไม้ไผ่เฮี้ยนี้ โดยมากนำมาใช้ทำแคนเป็นหลัก ช่างแคน จึงนิยมเรียกว่า ไม้กู่แคน ...

แคนแต่ละดวงจะมีจำนวนลูกแคนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับชนิดของแคน เช่น แคนเจ็ดมี 14ลูก แคนแปด มี16 ลูก เป็นต้น

[แก้ไข] 2. เต้าแคน


เต้าแคน ทำจากแก่นไม้ที่เนื้อไม่แข็งมากนัก เช่นไม้แคนหรือไม้ตะเคียน ไม้หนามแท่ง ไม้ประดู่ แต่ที่นิยมมากที่สุดคือ รากไม้ประดู่ เพราะรากไม้ประดู่ ไม่แข็งมากนัก ตัด บาก เจาะทำรูปทรงของเต้าแคนได้ง่าย

เต้าแคน มีลักษณะกลมเป็นกระเปาะ หัวท้ายสอบ ตรงกลางเจาะบากเป็นรูทะลุรูปสี่เหลี่ยม สำหรับใส่ลูกแคน ด้านหน้าหรือหัวเต้า เจาะรูกลมทะลุถึงรูสี่เหลี่ยมตรงกลาง สำหรับเป่าให้ลมเข้าไปสั่นสะเทือนลิ้นแคนภายในเต้าแคน ด้านท้ายเต้า เหลาตกแต่งเป็นรูปทรงคล้ายหัวนม ซึ่งเต้าแคนของช่างแคนแต่ละคน จะไม่เหมือนกัน ช่างแคนตัวจริงทุกคนจะมีรูปร่างเต้าแคนอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เต้าแคน ก็คือโลโก้ของช่างแคนคนนั้นนั่นเอง

[แก้ไข] 3. หลาบโลหะ


หลาบโลหะ คือแผ่นโลหะบางๆ ใช้สำหรับทำลิ้นแคน โดยช่างแคน จะค่อยๆ ทุบตีก้อนโลหะ จากที่เป็นก้อน ให้เป็นแผ่นเส้นยาวๆ จากที่เป็นแผ่น ให้กลายเป็นแผ่นบางๆ พอเหมาะกับการใช้งาน

[แก้ไข] 4. ขี้สูดหรือชันโรง


เป็นขี้ผึ้งเหนียวสีดำที่ได้จากรังของแมลงชนิดหนึ่งตัวเล็กกว่าผึ้งเรียกว่า แมลงขี้สูด หรือบางแห่งเรียก แมงน้อย คุณสมบัติของขี้สูดคือ อ่อน เหนียว ยืดหยุ่น ไม่ติดมือและไม่แห้งกรอบ ขี้สูดใช้สำหรับติดยึดลูกแคนเข้ากับเต้าแคน ทั้งยังช่วยปิดอุดช่องว่างระหว่างลูกแคนกับเต้า และระหว่างลูกแคนกับลูกแคน เพื่อไม่ให้ลมที่ผ่านเข้าสู่โพรงเต้าแคน รั่วไหลออกจากเต้า

[แก้ไข] 5. ไม้กั้น


ไม้กั้น ทำจากไม้ไผ่ เหลาเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม กว้างประมาณ 1 ซ.ม. หนาประมาณ 1 ซ.ม. และยาวประมาณ ไม่เกินความกว้างของแคนดวงนั้น

ไม้กั้นนี้ ใช้กั้นระหว่างลูกแคนแพซ้าย กับแพขวา ตรงจุดที่มีเชือกมัด ซึ่งจุดที่มีเชือกมัด โดยมากจะมีอยู่ 3 จุดคือ ด้านล่าง 1 จุด ตรงกลางแถวๆปลายลูกแคนที่สั้นที่สุด 1 จุด และด้านบนตรงปลายลูกแคนที่ยาวที่สุด อีก1 จุด... นอกจากนั้น ตรงรูสี่เหลี่ยมของเต้าแคน ก็ใช้ไม้กั้นอีก 2 จุด บน-ล่าง รวมแล้ว แคน 1 ดวง ใช้ไม้กั้นประมาณ 5 อัน

[แก้ไข] 6. เชือก


เชือก ใช้สำหรับมัดยึดลูกแคนให้อยู่ในรูปทรงที่ต้องการ ให้แคนมีความแข็งแรงขึ้น เชือกมัดนี้ นิยมใช้ เครือหญ้านาง และหวาย แต่บางแห่งในปัจจุบัน ก็ใช้เชือกฟาง แคนที่ผลิตที่แถวร้อยเอ็ด นิยมใช้เครือหญ้านาง เป็นเชือกรัดแคน แคนที่ผลิตที่แถวนครพนม นิยมใช้หวาย เป็นเชือกรัดแคน